ไฉ่ซิงเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ มีคำเรียก หรือสำเนียงแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น “ ไช้ซิ้งเอี๊ย ” “ ไฉ่เซ่งเอี๊ย ” หรือ “ ไฉเสิ่งเอี๊ย ” เป็นต้น
ชาวจีนเรียก เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ว่า “ ไฉ่ซิงเอี๊ย ” ( ไฉเสินเย๋) ดังนั้นเมื่อถึงวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนอ้าย (ตามปฏิทินจีน) และวันที่ 22 เดือน 7 ( ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี นักธุรกิจชาวจีนจะขมีขมันนำเครื่องเซ่นไหว้ มาบูชาเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย และสาเหตุที่ต้องไหว้ 2 ครั้ง ก็เพราะว่า เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย มี 2 องค์ คือ ไฉ่ซิงเอี๊ยบู๊ และ ไฉ่ซิงเอี๊ยบุ๋น
ไฉ่ซิงเอี๊ยบู๊(จ้าวกงหมิง) หน้าจะดุ บางครั้งประทับบนหลังเสือ บางครั้งก็ทรงเหยียบหลังเสือ ที่หัตถ์ถือกระบอง
ส่วนไฉ่ซิงเอี๊ยบุ๋น เป็นเทพเจ้าหน้าตาดี ทรงคุณธรรม เชื่อกันว่าองค์บู๊ให้คุณในเรื่องของหนี้สิน เจ้าหนี้คนไหนบูชามักจะตามหนี้ง่าย ลูกหนี้จะไม่กล้าโกงหรือหนีหนี้ ตามคำบอกเล่าเก่าแก่ฟังว่า ไฉ่ซิงเอี๊ย องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อเสือนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ใครดวงไม่ดีหรือกำลังมีปัญหาเรื่องเงินทอง ไปไหว้ท่านที่ศาลเจ้า และขอพรท่าน ท่านจะช่วยเสมอ คนจึงนิยมไปกราบไหว้กันมาก แต่มี เคล็ด อยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ อย่าลืมเอาหมูไปเซ่นไหว้เสือด้วย แล้วทุกอย่างจะราบรื่น
ไฉ่ซิงเอี๊ย ทั้ง 2 องค์นี้เป็นใคร ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีตำนานเล่าขานมามากมายหลายกระแส แต่ส่วนใหญ่จะเล่ากันว่า ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋นคือ ปี่กาน และองค์บู๊คือ จ้าวกงหมิง ซึ่งมีตำนานเล่ามาดังนี้
นานมาแล้ว เจียงไท้กง เทพชั้นผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่แต่งตั้งเทพเจ้า วันหนึ่งท่านกำลังนั่งบำเพ็ญตบะอยู่ จู่ๆ หัวใจก็สั่นหวิว ท่านจึงทราบด้วยจิตญาณว่า เทพปี่กาน กำลังจะมีเรื่องเดือดร้อนหนัก จึงพยายามหาทางช่วย
ปี่กานนั้น เป็นอัครหมาเสนาบดีของจักรพรรดิอินโจ้ว ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อิน ทรงลุ่มหลงสุรานารีไม่ใส่ใจราชกิจ ทรงมีสนมเอกนางหนึ่งนาม โซวถังกี้ (ซูต๋าจี่) ที่เป็นหญิงงามที่ลือชื่อในประวัติศาสตร์ ปี่กาน เป็นขุนนางผู้ซื่อตรง พยายามจะเตือนองค์จักรพรรดิให้หันมาสนใจราชกิจ แต่พระองค์ไม่สนพระทัยต่อคำเตือน ปี่กานจึงวางแผนให้ทหารไปจับสุนัขจิ้งจอกมาทำเสื้อคลุมถวายแด่องค์จักรพรรดิ เพราะเชื่อว่า ถังกี้ (ต๋าจี่) เป็นปีศาจจิ้งจอก เมื่อพบเห็นเสื้อคลุมก็จะตกใจและหนีไป แต่เหตุการณ์กับตรงกันข้าม เพราะถังกี้ไม่ตกใจ และยังวางแผนเล่นงานปี่กานกลับอีกด้วย
เย็นวันหนึ่ง ปี่กานได้ยินเสียงคนร้องขายของอยู่หน้าบ้าน ว่า “ ขายหัวใจๆ ” ก็แปลกใจ จึงออกไปดู พบเห็นคนแก่ยืนอยู่หน้าบ้านของตน จึงถามว่า “ ท่านผู้อาวุโส จะขายหัวใจจริงหรือนี่ ” ชายชราก็ตอบว่า “ ขายจริงๆ นายท่านสนใจซื้อหาหรือไม่ ”
ปี่กาน จึงแย้งไปว่า “ หัวใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของร่างกาย ถ้านำมันออกมาแล้ว ทุกคนต้องตาย ท่านยังคิดที่จะขายหัวใจอยู่อีกหรือหาไม่ ” ชายชรากล่าวว่า “ หัวใจเป็นต้นเหตุของความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หากหัวใจไม่เที่ยงธรรม มือเท้าย่อมทำแต่สิ่งไม่ดี ถ้าเอาหัวใจออกมาขายเสีย ต่อไปข้าพเจ้าก็จะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีแต่ความยุติธรรม จัดการปัญหาต่างๆ อย่างยุติธรรม เป็นเช่นนี้มิใช่ประเสริฐกว่าหรือ ”
ปี่กาน ยืนยันว่า “ แต่หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญมาก มีเพียงหนึ่งเดียว เมื่อขายแล้วท่านจะมีชีวิตสืบต่อไปได้อย่างไร ”
“ ได้แน่นอน เนื่องจากข้าพเจ้ามียาวิเศษอยู่เม็ดหนึ่ง เมื่อกินเข้าไปแล้วถึงแม้ไม่มีหัวใจ แต่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายจะยังสามารถทำงานสืบไปได้เช่นเดิม ”
“ งั้นขอให้ข้าพเจ้าได้ชมยาวิเศษสักนิดได้หรือไม่ ”
ชายแก่จึงส่งมอบยาวิเศษเม็ดนั้นให้แก่ปี่กาน เมื่อเขานำมาดมดูก็รู้สึกหอมอย่างประหลาด รู้สึกมีพลังวิ่งไปทั่วร่างกาย แต่พอเงยหน้าขึ้นมากลับไม่พบชายชราผู้นั้นเสียแล้ว (ความจริงแล้ว ชายชราผู้นั้นคือเจียงไท้กงแปลงกายลงมานั้นเอง)
เช้าวันรุ่งขึ้น องครักษ์หลายนายได้มาเชิญตัวปี่กานไปเข้าเฝ้าแต่เช้า ปี่กานรู้สึกแปลกใจ เพราะจักรพรรดิอินโจ้วไม่เคยสนพระทัยว่าราชการ แต่กลับส่งคนมาเชิญตนแต่เช้า จึงไถ่ถามเหล่าองครักษ์ จึงทราบว่า พระสนมถังกี้ เป็นโรคประหลาด หมอหลวงอับจนปัญญาที่จะรักษาได้ มีแต่หัวใจของปี่กานเท่านั้นที่จะสามารถใช้รักษาโรคนี้ได้
จักรพรรดิอินโจ้วกำลังหลงพระสนมถังกี้มาก ทรงตรัสว่า “ เจ้าเป็นพระสนมเอกแห่งเรา ส่วนปี่กาน เป็นแค่ขุนนางอันต่ำต้อย ชีวิตใครจักมีค่ามากกว่ากัน เรารู้ดี ดังนั้นขอเพียงรักษาอาการป่วยของเจ้าได้เท่านั้น อย่าว่าแต่ชีวิตของขุนนางผู้เดียวเลย ต่อให้ต้องฆ่าขุนนางสัก 100 คน เราก็เต็มใจ ”
ดังนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งให้เบิกตัวปี่กานมาเข้าเฝ้าแต่เช้า หลังจากปี่กานทราบเรื่องก็ตกใจเป็นอันมาก เรียกหาคนในครอบครัวมาสั่งเสีย ทันใดนั้นเขานึกถึงยาวิเศษที่ได้รับมาจากชายชรา จึงรีบไปหยิบยาวิเศษเม็ดนั้นออกมากลืนกินลง แล้วตามเหล่าองครักษ์เพื่อเข้าเฝ้า พอมาถึงท้องพระโรง จักรพรรดิอินโจ้วก็ตรัสขอหัวใจของปี่กาน เพื่อนำไปใช้รักษาอาการป่วยของพระสนมถังกี้
ปี่กานจึงทูลว่า “ พระองค์รับสั่งให้ขุนนางตาย ขันนางผู้นั้นก็มิอาจมีชีวิตสืบไป แต่ก่อนที่กระหม่อมขอกราบทูลเตือนพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายว่า พระองค์กำลังลุ่มหลงนางปีศาจ แลกำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของมัน หลังจากที่พระองค์ทรงประหารกระหม่อมแล้ว ราชวงศ์ของพระองค์ที่ดำรงคงอยู่มาถึง 28 รัชกาล ก็จะถึงกาลอวสานแล้ว ”
อนิจจา องค์จักรพรรดิหาได้ใส่พระทัยต่อคำเตือนของปี่กานไม่ กลับรับสั่งให้ทหารควักหัวใจของปี่กานออกมา แต่ ปี่กานห้ามเหล่าทหารเอาไว้ และกล่าวว่า “ พวกเจ้านั้นหาจำเป็นไม่ ขอเพียงมีมีดสั้นให้กับข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะกระทำการสืบไปเอง ” กล่าวจบ ปี่กานก็ใช้มีดแหวะอก และควักหัวใจออกมา โยนหัวใจนั้นทิ้งไว้กับพื้น แล้วเดินออกจากพระราชวังโดยไม่พูดอะไร
แต่ที่มหัศจรรย์คือ ตลอดการกระทำของปี่กานนี้ หามีเลือดออกมาไม่ ตั้งแต่นั้นมา ปี่กานก็ออกท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เขาโปรยเงินทองแจกจ่ายแก่ผู้คนไปทั่ว กลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ตามตำนานกล่าวกันว่า ปี่กานกินยาวิเศษของเจียงไท้กงเข้าไป ทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ แม่ว่าจะไม่มีหัวใจ และกล่าวกันว่า เพราะปี่กานไม่มีหัวใจนี่เอง เขาจึงโปรยเงินโปรยทองแก่ผู้คนทั่วไป โดยไม่เลือกว่าคนนั้นดีหรือคนนี้ไม่ดี เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นที่มีของเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋น นั้นเอง
ขณะเดียวกัน จ้าวกงหมิง(หวู่ฉายเสิน) ได้บำเพ็ญเพียรอยู่บนเขาบ้อไบ้ ได้สำเร็จมรรคผลเป็นเซียนมีฤทธิ์มาก กลับเกิดอาการเพี้ยนกลายเป็นนักพรตกังฉินที่ทั้งเก่งและอำมหิต จ้าวกงหมิง ถวายตัวรับใช้จักรพรรดิอินโจ้ว ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากมาย จ้าวกงหมิงมีบริวารที่ร้ายกาจอยู่ตัวหนึ่ง คือ เสือดำ และยังมีของวิเศษหลายอย่าง อาทิ แส้เหล็ก ไข่มุกวิเศษ เชือกล่ามังกร ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ เจียงไท้กงซึ่งเป็นเทพชั้นผู้ใหญ่จึงสู้ จ้าวกงหมิงมิได้
มีคราวหนึ่ง เจียงไท้กงถูกจ้าวกงหมิงกักขังไว้ในค่ายกลสิบทิศ เจียงไท้กง พยายามหาทางออกเท่าไหร่ก็ไม่พบ ขณะเดียวกันก็ถูก จ้าวกงหมิง ทำร้ายแทบปางตาย ซ้ำยังขู่เข็ญให้เจียงไท้กงแต่งตั้งตนให้เป็น เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยยื่นเงื่อนไขว่า “ ตาเฒ่า เจ้าจงยอมแต่งตั้งให้ข้านี้ เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภเสียแต่โดยดีเถิด แล้วข้าจะปล่อยแกออกไป ข้าต้องการควบคุมทรัพย์สินเงินทองทั้งหมด แต่ถ้าหากแกโยกโย้ ข้านี่จะทรมานให้แกสิ้นชีพในบัดดล ”
เจียงไท้กงไม่มีทางเลือก จึงยื่นขอเสนอให้แก่จ้าวกงหมิงว่า “ เราจักแต่งตั้งเจ้าเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภได้อย่างไร เพราะเวลานี้ ปี่กานเป็นผู้ครองตำแหน่งนี้อยู่ หากแม้นเจ้ามีความสามารถนำเอาหัวใจของปี่กานออกมา ทำให้เขาสิ้นชีพวายชนม์เสีย ตำแหน่งเทพเจ้าแห่งโชคลาภนี้ ก็จะเป็นของเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ”
เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้ จ้าวกงหมิง ได้ยินดังนั้นจึงย้ำกับเจียงไท้กงว่า “ ตกลงเช่นท่านว่านี้แหละ ข้าจักฆ่าปี่กานเอก แต่เจ้าต้องรักษาคำพูดให้มั่นเล่า ” เมื่อตกลงกันได้เช่นนั้น จ้าวกงหมิงจึงยอมปล่อยตัวเจียงไท้กงออกมาจากค่ายกล หลังจากนั้น จ้าวกงหมิงจึงสั่งให้เสือดำออกตามล่าหาปี่กาน และได้กำชับเสือดำว่า ต้องนำหัวใจของปี่กานกลับมาให้ได้ อย่าได้ผิดพลาดเป็นอันขาด
เวลานั้น ปี่กาน กำลังโปรยเงินโปรยทองแจกจ่ายแก่ผู้คนตามที่ต่างๆ ที่เขาเดินทางผ่าน บ่ายวันหนึ่ง ปี่กานเดินทางมาถึงเชิงเขาแห่งหนึ่ง เขารู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้าจากงานสงเคราะห์ผู้คน จึงเอนตัวลงนอนพักบนโขดหิน พลันเกิดลมพายุกรรโชกอย่างรุนแรง ปี่กานตกใจอย่างมาก เห็นเสือดำตัวหนึ่งกระโจนใส่ตัวเขาอย่างรวดเร็ว ปี่กาน หลบมิทันถูกเสือตะปบล้มลง จากนั้น มันก็เริ่มตะกุยหน้าอกของปี่กานเพื่อควานหาหัวใจ แต่หาอย่างไรก็หาไม่พบ เพราะปี่กานไม่มีหัวใจแล้ว
เสือดำจึงคำรามด้วยความโกธร และผละจากไปอย่างไม่พอใจ ทั้งนี้เพราะเจียงไท้กงออกอุบายหลอกจ้าวกงหมิงนั่นเอง อย่างไรก็ดี แม้เสือดำจะมิได้หัวใจของปี่กานไป แต่กงเล็บของมันที่ตะกุยอยู่ในทรวงอกของปี่กานนั้น ทำให้อวัยวะภายในของปี่กานสับสน ส่งผลให้ปี่กานกลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภที่ไม่เที่ยงธรรมนัก เขามักโปรยปรายเงินทองอย่างลำเอียง เจอใครก่อนก็ให้คนนั้นก่อน และมักจะให้เยอะๆ ทำให้คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ก็ยิ่งร่ำรวยยิ่งขึ้น ส่วนคนยากจนอยู่เดิม ก็ยังคงยากจนต่อไป เพราะเป็นเรื่องลำบากไม่น้อย ที่จะหาเครื่องเซ่นไหว้ดีๆ มาบูชาตอนที่เขาออกมาเยือนผู้คนในแดนมนุษย์
ทางฝ่ายจ้าวกงหมิง แม้มิได้เป็น เทพเจ้าแห่งความโชคลาภตามที่ปรารถนา แต่เนื่องจากเจียงไท้กงเคยตกปากรับคำรับคำไว้ เจียงไท้กงจึงประทานของวิเศษให้ 4 ชิ้น คือ เจียป้อ, หนับเตียว, เจียไช้ และ หลี่ฉี้ ซึ่งเป็นของวิเศษที่ใช้เรียกเงินเรียกทองให้ไหลมาเทมา การค้าราบรื่น มีกำไรดี ดังนั้น ชาวจีนจึงพากันกราบไหว้ จ้าวกงหมิง เป็น เทพเจ้าแห่งโชลาภอีกองค์หนึ่ง
ด้วยเหตุที่ว่า จ้าวกงหมิง เป็นผู้ที่มีฤทธิ์มาก เคยเอาชนะเจียงไท้กงมาแล้ว ชาวจีนจึงยกย่องให้เป็น “ บู๊ไฉ่ซิงเอี๊ย ” ( เทพเจ้าแห่งโชคลาภองค์บู๊) และยกย่องปี่กานให้เป็น “ บุ๋นไฉ่ซิงเอี๊ย ” ( เทพเจ้าโชคลาภองค์บุ๋น) เพราะเคยเป็นอัครมหาเสนาบดีขององค์จักรพรรดิมาก่อน
รูปลักษณ์และพลานุภาพของไฉ่ซิงเอี๊ย
ไฉ่ซิงเอี๊ย เป็นเทพชั้นสูงที่ชาวจีนให้ความสำคัญมาก เป็นเทพองค์แรกที่จะต้องเซ่นไหว้ก่อนเทพองค์อื่นๆ ทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่ทำมาค้าขาย ดังนั้นจึงมีการสร้างรูปเคารพของไฉ่ซิงเอี๊ยขึ้นมาสักการบูชากัน
|
|
ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊
|
ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋น
|
ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊ มักจะเป็นรูปชายวัยกลางคน ใส่ชุดนักรบจีนโบราญ ประกอบด้วยชุดเกราะ หมวกขุนพล มือซ้ายถือกระบอง มือขวาถือเงินหยวน(หยวนเป่า) ใบหน้าดุ มีพาหนะเป็นเสือโคร่งลายพาดกลอนตัวใหญ่
ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊ นี้ ชาวจีนที่บูชาเชื่อกันว่า มีพลานุภาพให้คุณแก่ผู้บูชาในเรื่องของหนี้สิน ช่วยให้ผู้บูชาเก็บหนี้ได้ง่ายขึ้น ลูกหนี้ไม่คิดเบี้ยวให้เจ้าหนี้ต้องลำบากใจ นอกจากนี้ยังมีอนุภาพช่วย ดูแล และควบคุมบริวาร ตลอดจนลูกจ้างให้อยู่ในระเบียบวินัย มีความขยันในการทำงาน ดังนั้น ตามโรงงาน หรือบริษัทใหญ่ๆ จึงนิยมบูชา ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊ ด้วยความเชื่อที่ว่า จะช่วยดูแลคนทำงาน ตลอดจนเป็นหูเป็นตาให้กับจ้าของกิจการ นอกจากนี้ บรรดาข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจ (ของจีน) ล้วนนิยมบูชาเซ่นไหว้ ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บู๊ เพราะช่วยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีจำนวนมากนั่นเอง
ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋น มักจะเป็นรูปของชายในชุดขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจีนโบราญ สวมหมวกมีปีกออกไป 2 ข้างคล้ายๆ กับหมวกของเทพ ลก (หมายถึง ฮก ลก ซิ่ว) ชุดขุนนางจีนชั้นผู้ใหญ่ครบเครื่อง ทั้งเสื้อนอกใน มือทั้งสองข้างจะถือแผ่นผ้าจารึกอักษร ที่คลี่ออกเป็นอักษรมงคล หรือคำอวยพรที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชา ชาวจีนเชื่อว่า ไฉ่ซิงเอี๊ยสามารถดลบันดาล หรือช่วยเหลือให้ผู้ที่บูชามีโชคมีลาภ ตลอดจนมีความมั่งคั่งร่ำรวย โชคลาภที่ได้มาจากรายได้พิเศษ ไม่ใช่รายได้ประจำ (เงินเดือนหรือเงินค้าขายตามปกติ) ไฉ่ซิงเอี๊ยองค์บุ๋น นี้มีอานุภาพหรือให้คุณทางด้านเงินทอง หรือทรัพย์สิน ตลอดจนโชคลาภต่างๆ ทำให้ผู้บูชาประสบความสำเร็จ ลูกค้าเชื่อถือ
ในตำนานกล่าวว่า จ้าว กง หมิง ได้จุติลงมาเป็นมนุษย์ในชาติสุดท้าย ตรงกับยุคราชวงศ์ซาง มีนามเดิมว่าจ้าวหลาง มีถิ่นบำนักอยู่ที่ภูเขาหนานซาน (หมู่บ้านเดียวกับเทพจงขุ่ย) มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย รับราชการในแผ่นดินซางโจ้วหวาง ด้วยความที่เป็นขุนนางที่มีความซื่อสัตย์และโอบอ้อมอารีย์ต่อผู้ยากไร้ ทำให้เป็นที่ขัดพระทัยของซางโจ้วหวาง ซึ่งปกครองแผ่นดินด้วยการรีดนาทาเร้นชาวบ้านชาวเมือง ให้ต้องระกำลำบากไปทุกย่อมหญ้า
ในที่สุดจ้าวหลางก็ลาออกจากราชการเพราะไม่สามารถทนต่อแรงเสียดทานของข้าราชการกังฉินได้ หลังจากนั้นชื่อนี้สูญหายไปนาน ไม่มีผู้คนกล่าวถึงอีก
ต่อมาในยุคราชวงศ์ฉิน จ้าวหลางก็ปรากฏตัวอีกครั้งและได้กลับเข้ารับราชการในราชสำนัก และเช่นเดียวกับคราวแรก ด้วยจ้าวหลางเป็นขุนนางที่เต็มไปด้วยความเมตตา จึงไม่เป็นที่พอใจของเหล่าขุนนางกังฉินจำนวนมาก ในที่สุดก็ทนแรงบีบคั้นจากทางการไม่ได้ ทำให้จ้าวหลางเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก ซึ่งเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาอาฆาตและเห็นแก่ตัว จึงได้ปลีกตัวเข้าสู่ป่าไพรเพื่อศึกษาธรรมตามหลักเต๋า
ต่อมาท่านมีวาสนาได้พบปรมาจารย์เต๋านามว่า จาง เทียน ซือ (ขี่เสือเป็นพาหนะและมือถือแส้เหล็ก) ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย จ้าวหลางจึงฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านจางเทียนซือ และได้ศึกษาธรรมพร้อมทั้งรับใช้อาจารย์เป็นอย่างดี ครั้นสิ้นราชวงศ์ฉิน จ้าวหลางก็บรรลุธรรมของเต๋า มีนามว่า จ้าว กง หมิง และปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในช่วงราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และเชื่อกันว่าท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงจนบรรลุเป็นเทพอยู่บนสรวงสวรรค์
เทพเจ้าจ้าวกงหมิง ชาวจีนให้เคารพศรัทธาในฐานะของเทพแห่งโชคลาภ เทพแห่งการค้าขายและเทพแห่งความสำเร็จ (ไฉ่ซิงเอี๊ยปางบู๊) ทั้งยังมีเทวบารมีคุ้มครองปกปักรักษาทรัพย์สินเงินทองมิให้สูญหายหรือพร่องลงไป บังคับบัญชาผู้คนจำนวนมากๆให้อยู่ในโอวาท ให้ลูกน้องหรือคนงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา จงรักภักดี มีความซื่อสัตย์ ไม่ทรยศคดโกง ฯลฯ
ลักษณะเทวรูปเคารพของท่าน มักจะเป็นขุนนางจีนในชุดขุนพล ขี่เสือ (เสือที่เป็นพาหนะ ได้รับมอบจากท่านอาจารย์จางเทียนซือ) ร่างกายกำยำ หน้าตาดุดันน่าเกรงขาม มือถือกระบอกเหล็ก ไม่ว่าจะเสด็จไปในทิศทางใด จะมีบริวารจำนวนมากมายตามเสด็จเสมอ
วันฉลองคล้ายวันประสูติ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 1 จันทรคติจีน แต่เนื่องจากใกล้กับวันตรูษจีนอยู่มาก (ถัดจากวันชิวอิดเพียง 4 วันเท่านั้น) ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักนิยมบูชาฉลองวันคล้ายวันประสูติของท่านในวันตรุษจีนไปด้วยคราวเดียวกัน เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่จีน ซึ่งจะตั้งโต๊ะบูชากลางแจ้งเพื่อรับเสด็จ
จ้าวกงหมิงหรือไฉ่ซิงเอี๊ย (ปางบู๊) เป็นเทพชั้นสูง ให้คุณทางด้านการอำนวยโชคลาภ ความร่ำรวยแก่ผู้บูชา เป็นเทพองค์แรก ที่ชาวจีนต้องไหว้ในวันตรุษจีน โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบธุรกิจการค้า โดยในแต่ละปีเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยจะเสด็จมาใน ทิศทาง และเวลาที่แตกต่างกัน ชาวจีนจึงนิยมที่จะบูชาเอาไว้ประจำบ้าน และนิยมบูชาอย่างสม่ำเสมอ
ความเป็นมาของกงหมินนั้น ในเทพนิยายจีนก็ได้เล่าไว้ว่า ในภพหนึ่งของกงหมินเคยเกิดในครอบครัวที่ยากจน มีอาชีพเป็นพ่อค้าเร่ร่อน นำผ้าไปขายจากเมืองหนึ่งสู่ยังอีกเมืองหนึ่ง บางครั้งก็มีกำไรมากแต่โดยมากมักทุนหายกำไรหด เพราะความที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ มักนำเงินไปแจกจ่ายช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อน
จนกระทั่งวันหนึ่งได้ขายสินค้าจนหมดเกลี้ยง แต่เงินทองที่มีอยู่ก็ไม่เหลือ เพราะได้ช่วยเหลือคนอื่น จนไม่มีเงินติดตัวสักเก๊เดียว ไม่รู้จะไปทางไหน จึงอุ้มท้องหิวโหยเดินเรื่อยเปื่อยอยู่ในเมือง เผอิญมีหมอดู
คนหนึ่งเห็นลักษณะท่าทางของท่านตรงตามตำราบ่งบอกไว้ เลยตรงเข้าไปทักทายให้เชิญมานั่งสนทนา พร้อมกับทำนายว่า ต่อไปท่านจะเป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เกินกว่ามนุษย์ทุกคนในแผ่นดิน
กงหมินได้ฟังดังนั้นไม่สามารถจะกลั้นหัวเราไว้ได้ พร้อมกับพูดขึ้นว่า " จนที่สุดในแผ่นดินซิ เราจะเชื่อท่านทันที มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเวลานี้ตัวเราไม่มีเงิน แม้แต่จะซื้ออาหารกิน" หมอดูยังคงยืนยันคำทำนายว่า " เอาเถิด ต่อไปท่านจะทราบเองแม้แต่ตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ก็ยังรอท่านอยู่" กงหมินไม่เชื่อตามคำทำนายอีกทั้งยังได้เดินออกจากเมืองไป
ครั้นถึงชายป่าแห่งหนึ่งมีลิงสองตัวตรงเข้ามาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ วานให้กำจัดเสื้อร้ายที่คอยจับสัตว์ที่อ่อนแอกว่ากินเป็นอาหาร ด้วยความเบื่อหน่ายชีวิต จึงคิดจะช่วยสงเคราะห์ในการนี้คิดว่าเป็นการช่วยเหลือสัตว์ร่วมโลก ถ้ากำจัดเสือได้สัตว์อื่นจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป หากพลาดท่าเสียทีก็ขอเป็นอาหารเสือเสียเลย ตนจะได้พ้นทุกข์จากโลกนี้ไปเสียที
ขณะที่เข้าป่าลึกตามหาเสืออยู่นั้น เสือตัวนั้นพอได้กลิ่นมนุษย์โชยเข้าใกล้ จึงออกติดตามล่าเหยื่อ ครั้นได้จังหวะก็กระโจนออกจากที่ซ่อน หมายตะครุบเหยื่อเป็นอาหารทันที ฝ่ายกงหมินที่คอยระหวังตัวอยู่ทุกฝีก้าว พอเสือร้ายพุ่งตัวเข้าใส่ได้เอี้ยวตัวเพียงนิดก็หลบพ้นกรงเล็บอันแหลงคมอย่างหวุดหวิด การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเสือก็เริ่มขึ้น เสือหมายขย้ำคนเป็นอาหาร คนต้องการฆ่าเสือ เพื่อช่วยชีวิตสัตว์อื่น
ชั่วเวลาเพียงไม่นานนัก กงหมินได้ใช้มือเปล่าทุบเสือตาย ด้วยพละกำลังอันมหาศาลของเขา หลังจากที่ได้พิชิตเสือลงได้พละกำลังที่มีอยู่ได้สูญเสียไปมาก เลยตัดสินใจพักผ่อนเอาแรงอยู่ในป่าแห่งนั้น เพื่อความปลอดภัยจาสัตว์ร้ายตัวอื่น ๆ เขาได้ปีนขึ้นไปนอนอยู่บนต้นไม้ใหญ่
ตกดึกคืนนั้นขณะที่เขากำลังหลับสนิทอยู่พลันต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาเมื่อมีบุคคลกลุ่มหนึ่งลักษณะท่าทางของเขาเหล่านั้นจะเป็นพ่อค้าก็ไม่ใช่จะเป็นพวกโจรผู้ร้ายก็ไม่เชิง จากการแต่งกายผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไป คุยกันอยู่ใต้ต้นไม้ที่เขานอนอยู่ ด้วยความไม่รู้พวกเขาคือใคร จึงนอนฟังการสนทนาจากบุรุษยามวิกาลด้วยความสนใจ
" บัดนี้เจ้าของทรัพย์สมบัติที่เก็บรักษาไว้ เขาได้มาถึงที่แห่งนี้แล้ว พวกเราเฝ้าคอยเขามานาน หน้าที่เป็นอันสิ้นสุดลงแล้วสมควรที่จะจากไปเสียที สมบัติเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขาคนเดียวเท่านั้น สมควรจะทำอย่างไรต่อไป"
กล่าวจบร่างบุรุษเหล่านั้นได้อันตรธานไป สร้างความแคลงใจแก่กงหมินยิ่งนัก ด้วยต้องการขจัดให้สิ้นความสงสัย วันรุ่งขึ้นเขาเที่ยวออกสำรวจตรวจรารอบ ๆ บริเวณนั้น ปรากฏว่า พบมีก้อนหินปิดปากทางเข้าอุโมงค์เล็ก ๆ ซ่อนอยู่ ครั้นใช้ไม้งัดเอาก้อนหินนั้นออกและเดินเข้าไปลึกพอสมควร แต่แล้วเขาต้องตื่นตะลึงกับสิงที่อยู่ข้างใน เพราะมีเพชรนิลจินดาและทรัพย์สินที่มีค่ามหาศาลกองพะเนินราวภูเขา
เขามีดวงจิตที่ไม่ละโมบไม่ยินดียินร้ายในของที่ไม่ใช่ของตนจึงได้แค่มองผ่านแล้วเดินกลับออกมา ต่อมาทางบ้านเมืองได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำท่วมบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนที่ประสบภัยพิบัติคราวนี้ต่างเสียชีวิต
เป็นจำนวนมาก ที่ล้มป่วยก็ได้รับทุกขเวทนายิ่งนัก ทางการมิอาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึงได้
กงหมิน เห็นสภาพชาวบ้านแล้วก็เกิดความสงสาร จึงได้เข้ากราบทูลต่อพระเจ้าแผ่นดินให้ส่งทหารไปขนเอาทรัพย์สมบัติที่ถูกเก็บซ่อนไว้ นำออกแจกจ่ายชาวเมืองที่ประสบเคราะห์กรรม เพื่อพอจะบรรเทา
ความเดือดร้อนได้บ้าง
ภายหลังจากบ้านเมืองได้ผ่านวิกฤตการณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นว่าเขาเป็นผู้ที่มีจิตใจ โอบอ้อมอารีต่อเพื่อมนุษย์อีกทั้งไม่เห็นแก่ตัวและละโมบในทรัพย์สินเงินทอง จึงรับไว้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการแผ่นดิน
และมีพระราชโองการให้แต่ตั้งกงหมินให้เป็นขุนคลังแผ่นดิน ดูแลพิทักษ์ทรัพย์สินสมบัติของบ้านเมือง
คุณความดีที่เขาสร้างไว้ระหว่างที่เป็นมนุษย์ หลังจากที่ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว อานิสงส์นี้ส่งเสริมให้ไปจุติบนสรวงสวรรค์และได้รับบัญชาจากเง็กเซียนฮ่องเต้แต่งตั้งให้เป็น “ ไฉ่สิ่งเอี้ย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ” นั่นเอง
|