สารทจีนเป็นเทศกาลไว้เจ้าประจำเดือน 7 วันที่ 15 เรียกไหว้เทศกาลนี้ว่า “ตงง้วงโจ่ย” เป็นการไหว้ครั้งที่ 5 ของปี การไหว้สารทจีนจะมีพิเศษกว่าการไหว้ครั้งอื่น ๆ ว่ามีการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน นอกจากจะเป็นการไหว้เจ้าที่กับไหว้บรรพบุรุษแล้ว บางบ้านยังถือโอกาสนี้ไหว้ให้แก่ต้นตระกูลจีน หรือคนจีนที่มาเมืองไทยรุ่นบุกเบิก แล้วเสียชีวิตโดยไม่มีลูกหลานสืบสกุล จึงไม่มีคนไหว้ให้ ถ้าพูดหยาบก็ต้องว่า ผีไม่มีญาติ แต่ถ้าจะกล่าวให้น่าฟัง ก็คือ ต้นตระกูลจีน มีคำจีนเรียกว่า “ไป๊ฮ้อเฮียตี๋”
ดังนั้น การไหว้สารทจีนของบางบ้านจะมี 3 ชุด ชุดหนึ่งไหว้เจ้าที่ ชุดหนึ่งไหว้บรรพบุรุษ ชุดหนึ่งไหว้ต้นตระกูลจีน ในการไหว้เจ้าที่ ของไหว้จะมีของคาว ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับการไหว้บรรพบุรุษ ถ้าเป็นคนมีฐานะก็นิยมไหว้โหงวแซ คือมีเป็น ไก่ หมู ตับ ปลา พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจัดที่บรรพบุรุษชอบ หรือจะจัดแบบที่ลูกหลานคนที่ได้กินจริงชอบ แต่ตามธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ ต้องมีของน้ำสำหรับซดให้คล่องคอ จะเป็นน้ำแกงก็ได้ หรือเป็นขนม น้ำใส ๆ เช่น อี๊ (คือขนมบัวลอย) ก็ได้ วางเคียงกับชามข้าวสวยและน้ำชา ของหวานก็มี ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ส่วนการไหว้ “ฮ้อเฮียตี๋” จะตั้งโต๊ะไหว้ที่หน้าบ้านของไหว้จะมีของคาว 1 อย่าง เช่น ไก่หรือเป็ด มีขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ ข้าว 1 ที่ใส่หม้อไว้ และบางบ้านจะมีกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า “อ่วงแซจิว” ไหว้ด้วย การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สาย ๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้านนิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้ สำหรับการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในเทศกาลสารทจีนนี้ ที่เมืองจีนไม่มี ขนมที่ใช้ไหว้ที่เมืองจีนจะเป็นขนม 5 อย่าง เรียกว่า “โหงวเปี้ย” หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า “ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี” ปัง คือ ขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำจากน้ำตาล เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่ หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า ทำจากแป้งข้าวเจ้า ข้างในไส้เต้าซา มั่ว คือ ขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดง ตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง ขนมทึงกีนี้ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่งขนมเทียนในการไหว้เทศกาลสารทจีน ............................ ข้อมูลจากหนังสือ “ตึ่งหนั่งเกี้ย” โดยจิตรา ก่อนันทเกียรติ หน้า 72-77